share

3 ใน 4 ของ 'CISO' อยากเปลี่ยนงาน

Last updated: 4 Apr 2024
130 Views
3 ใน 4 ของ 'CISO' อยากเปลี่ยนงาน
3 ใน 4 ของ 'CISO' อยากเปลี่ยนงาน
 
CISO ต้องเผชิญแรงกดดันในการทำงานที่เพิ่มขึ้น บวกกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
 
จากปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบในองค์กร 

เพราะจากการสำรวจผู้บริหารด้านการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายและความปลอดภัยข้อมูลสารสนเทศ (Chief Information Security Officer หรือ CISO) จำนวน 663 คนและอีก 100 คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ในสหรัฐและแคนาดาพบว่า 

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา CISO มากถึง 75% มีความพึงพอใจกับงานลดลงถึง 10 คะแนน และตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนสายงานมากถึง 3 ใน 4 เลยทีเดียว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ระดับความพึงพอใจในการทำงานของ CISO ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่กลับลดลงในปีที่แล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความกดดันที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยกฎใหม่ของก.ล.ต. ที่ได้ประกาศว่า บริษัทมหาชนจำเป็นต้องเปิดเผยการละเมิดที่มีสาระสำคัญภายใน 4 วันทำการหลังจากตรวจพบเหตุการณ์และมีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ
 
โดยการประกาศของก.ล.ต.ครั้งนี้ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เพราะการใช้ภาษาที่ค่อนข้างคลุมเครือและบทลงโทษในกฏนี้ ทำให้ CISO ทราบดีว่ากฎระเบียบเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและอาจทำให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้อย่างไรบ้าง 

เนื่องจากเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ผลกระทบทั้งหมดจากการละเมิดข้อมูลอาจใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะทราบผลหลังจากการสอบสวนอย่างเข้มงวด

สิ่งที่ CISO ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ แรงกดดันในการทำงานที่เพิ่มขึ้นบวกกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากข้อจำกัดต่างๆ แต่ผลตอบแทนที่ CISO ได้รับกลับไม่เป็นเช่นนั้น 

เห็นได้จากที่หลายองค์กรในภาคธุรกิจต่างๆ ยังไม่คำนึงความสำคัญของตำแหน่งงานและการให้ค่าตอบแทนรวมถึงสวัสดิการกับ CISO ที่ไม่โดดเด่น จากสถิติล่าสุดมีจำนวนคดีที่ CISO ถูกฟ้องร้องอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคดีความส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขา
 
อย่างที่ทราบกันดีว่า ในทุกธุรกิจมีความต้องการในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางดิจิทัลและต้องการให้ CISO เข้ามาดูแลรับผิดชอบ แต่การจะทำให้เป็นจริงได้นั้น องค์กรควรเปิดโอกาสให้ CISO เข้าไปศึกษาระบบของส่วนงานต่างๆ และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ทางไซเบอร์

เพราะ CISO เองก็พยายามหาช่องทางติดต่อสื่อสารกับคณะกรรมการบริษัท เพราะหากต้องรายงานผ่านหน่วยงานอื่นความถูกต้องของข้อมูลอาจถูกลดทอนลงได้ ทุกวันนี้ CISO มีความรับผิดชอบสูงเหมือนกับระดับผู้บริหาร แต่ก็ยังต้องประสบกับปัญหาเรื่องการเป็นที่ยอมรับจากองค์กรและไม่มีโอกาสได้ร่วมประชุม 

จากการสำรวจพบว่า มี CISO ที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในองค์กรเพียง 20% ของจำนวน CISO ทั้งหมด โดย 15% ทำงานอยู่ในบริษัทมหาชนและมีเพียง 50% เท่านั้นที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส 

นอกจากนี้ 85% ของ CISO ยังต้องการให้คณะกรรมการเสนอแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงขององค์กรเพื่อให้ CISO สามารถดำเนินการต่อได้ แต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมการบริษัทบางองค์กรเท่านั้นที่เข้าใจเรื่องนี้ 

ส่วนที่เหลือโดยรวมแล้วยังขาดการใส่ใจและให้ความสำคัญ ทำให้ CISO ไม่ได้รับคำแนะนำที่เพียงพอ ฉะนั้น CISO อาจจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกให้มากขึ้นเพื่อให้องค์กรหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ครับ
 
สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567)
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/gadget/1109679 
Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare