share

พบ โทรจัน ขโมยข้อมูลไบโอเมตริก เพื่อเข้าถึงบัญชีธนาคารเหยื่อ (1)

Last updated: 4 Apr 2024
141 Views
พบ โทรจัน ขโมยข้อมูลไบโอเมตริก เพื่อเข้าถึงบัญชีธนาคารเหยื่อ (1)
พบ โทรจัน ขโมยข้อมูลไบโอเมตริก เพื่อเข้าถึงบัญชีธนาคารเหยื่อ (1)
 
กลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์พัฒนาชุดมัลแวร์ธนาคารบนมือถือที่ซับซ้อน ใช้เครื่องมือการสลับใบหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ขโมยข้อมูลการจดจำใบหน้า ข้อมูลระบุตัวตน รวมถึงข้อมูลไบโอเมตริก

ทีมนักวิจัยได้ติดตามภัยคุกคาม GoldFactory ตั้งแต่กลางปี ​​2566 ซึ่งเป็นกลุ่มอาชญากรรมไซเบอร์ที่ใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร ได้พัฒนาชุดมัลแวร์ธนาคารบนมือถือที่ซับซ้อน

โดยเป้าหมายหลักคือธนาคารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) โดยเฉพาะในไทยและเวียดนาม ซึ่งในขณะนี้มีสถาบันการเงินมากกว่า 50 แห่งในเวียดนามที่ตกเป็นเป้าหมายแล้ว 

โทรจันแอนดรอยด์นี้มีชื่อว่า "GoldDigger" ทั้งยังค้นพบโทรจันมือถือที่ซับซ้อนตัวใหม่ที่มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้ไอโอเอส โดยเฉพาะซึ่งมีชื่อว่า GoldPickaxe.iOS โดยตระกูล GoldPickaxe มีทั้งเวอร์ชันสำหรับไอโอเอสและแอนดรอยด์และมีการอัพเดทเป็นประจำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและหลบเลี่ยงการตรวจจับ

GoldPickaxe.iOS สามารถรวบรวมข้อมูลการจดจำใบหน้า ข้อมูลระบุตัวตน ข้อมูลไบโอเมตริก และการสกัดกั้น SMS ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานเหมือนกันกับแอนดรอยด์ โดยแฮกเกอร์ใช้การสลับใบหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอเพื่อสร้าง Deepfakes รวมกับข้อมูลประจำตัวและความสามารถในการสกัดกั้น SMS ช่วยให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงบัญชีธนาคารของเหยื่อโดยไม่ต้องได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ของการขโมยเงิน

สำหรับหลักการทำงานเริ่มจากแฮกเกอร์ใช้แพลตฟอร์มทดสอบแอปพลิเคชันมือถือของ Apple คือ TestFlight เพื่อกระจายมัลแวร์ตั้งแต่แรก หลังจากลบแอพที่เป็นอันตรายออกจาก TestFlight แฮกเกอร์จะใช้แผนวิศวกรรมสังคมแบบหลายขั้นตอนเพื่อชักชวนเหยื่อให้ติดตั้งโปรไฟล์การจัดการอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Device Management หรือ MDM) สิ่งนี้เองที่ทำให้แฮกเกอร์สามารถควบคุมอุปกรณ์ของเหยื่อได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้นักวิจัยยังพบมัลแวร์รูปแบบใหม่ที่ได้รับการพัฒนามาจาก GoldDigger ซึ่งมีชื่อว่า GoldDiggerPlus โดยมีการขยายฟังก์ชันการทำงาน ช่วยให้โทรหาเหยื่อได้แบบเรียลไทม์ และดำเนินการผ่าน APK ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษซึ่งมีชื่อว่า GoldKefu

เมื่อเหยื่อคลิกปุ่มติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าปลอม GoldKefu จะตรวจสอบว่าเวลาปัจจุบันอยู่ภายในชั่วโมงทำงานที่แฮกเกอร์กำหนดไว้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น มัลแวร์จะพยายามค้นหาผู้ให้บริการฟรีเพื่อโทรผ่านให้เหมือนกับว่ากำลังใช้งานศูนย์บริการลูกค้าจริง

การพัฒนาของโทรจัน GoldFactory เริ่มจาก เดือน มิ.ย. 23 - GoldDigger เป็นโทรจันธนาคาร Android แบบคลาสสิกที่เข้าถึงและควบคุมอุปกรณ์, เดือน ก.ย. 23 - GoldDiggerPlus ยังเป็นมัลแวร์ Android ที่ขยายการทำงานของ GoldDigger

เดือน ก.ย. 23 - GoldKefu เป็นโทรจันที่ฝังอยู่ใน GoldDiggerPlus มีเว็บปลอมและเปิดใช้งานการโทรด้วยเสียงไปยังเหยื่อแบบเรียลไทม์, เดือน ต.ค. 23 - GoldPickaxe เป็นโทรจันที่ออกแบบมาสำหรับทั้งแพลตฟอร์มไอโอเอส และแอนดรอยด์ เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลไบโอเมตริกซ์

วิธีการที่ GoldFactory ใช้โจมตีคือ เทคนิคการ smishing และฟิชชิงร่วมกับทีมแฮกเกอร์หลักที่สื่อสารด้วยภาษาจีนและทีมงานท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและเวียดนามเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นอันตราย เพราะการพูดภาษาท้องถิ่นถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจกับเหยื่อ

นอกจากนี้ยังพบตัวอย่าง SMS ที่เขียนเป็นภาษาไทยที่ใช้ในแคมเปญฟิชชิ่งอีกด้วย หลักฐานนี้ชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ของเครือข่ายอาชญากรไซเบอร์ที่หลากหลายซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากประเทศต่างๆ หรือการใช้บริการท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่มัลแวร์ไปยังอุปกรณ์ของเหยื่อ

นื่ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามองสำหรับแฮกเกอร์มากขึ้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้ธนาคารใช้การยืนยันตัวตนด้วยไบโอเมตริกซ์ใบหน้าแทนการใช้ OTP เมื่อทำธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค. 2566

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีชาวเวียดนามตกเป็นเหยื่อของแอปพลิเคชันมือถือโดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนการสแกนการจดจำใบหน้า ทำให้แฮกเกอร์สามารถถอนเงินได้มากกว่า 40,000 ดอลลาร์

นักวิจัยจึงคาดว่า GoldPickaxe ในเวียดนามจะเพิ่มมากขึ้นเร็วๆ นี้ เนื่องจากธนาคารของรัฐแห่งเวียดนาม (SBV) ได้สรุปแผนการกำหนดให้ใช้การยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับการโอนเงินทั้งหมดตั้งแต่เดือนเม.ย.2567 เป็นต้นไป 

ในสัปดาห์หน้าเราจะตามกันต่อในตอนที่ 2 กันนะครับ...
 
สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget
 
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2567)
Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare