share

Romance Scam

Last updated: 5 Jan 2024
3485 Views
Romance Scam

Romance Scam - จุดเริ่มต้นและบทสรุปของอาชญกรรมความรัก

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ได้เปิดเผยเรื่องราวของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงด้วยวิธี Romance Scam และต่อจากนี้คือเรื่องราวของเธอ…

สิงหาคมปี 2017 “ดาร์ลีน” เข้าร่วมเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ซึ่งเธอได้พบกับชายคนหนึ่งชื่อ “จิโอวานนี่”

“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่าอยากจะเผยแพร่เรื่องราวของฉันออกไป ฉันให้เบอร์โทรกับเขาเพราะเขาดูจริงใจมาก ภายใน 3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น เขาแสดงออกว่าเขาตกหลุมรักฉัน เขาบอกฉันว่าเขาต้องเดินทางไปทำงานที่ตุรกี เขาบอกว่าเขาเป็นสถาปนิกและผู้รับเหมา“ ต่อมาจิโอวานนี่บอกเธอว่าเขาต้องการเงินสำหรับทำงานในต่างประเทศ เขาจึงยืมเธอไป 30,000 ดอลลาร์ โดยจิโอวานนี่พูดว่า “ผมจะคืนเงินให้คุณทุกบาททุกสตางค์ ผมจะให้คุณมากขึ้นสำหรับการทำเช่นนี้เพื่อผม”

“ประมาณสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ เขาติดต่อฉันและบอกว่าต้องการเงินมากกว่านี้เพื่อช่วยฉัน เรากำลังเดินไปด้วย กัน เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน เรากำลังจะแต่งงานกัน เขาขอเงินฉันหลายครั้ง ทุกครั้งจะมีเหตุผลเสมอ ตอนนั้นฉันริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างแต่ฉันก็เพิกเฉยต่อมัน จำนวนเงินทั้งหมดที่เขาได้รับจากฉันคือ 530,000 ดอลลาร์ มันคือเงินที่ฉันต้องการเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ และนั่นคือเหตุผลที่ฉันยังคงทำงานอยู่ตอนนี้ แม้จะมีอายุเกือบ 74 ปีแล้วก็ตาม ณ ตอนนี้ฉันตั้งคำถามกับตัวเองว่า ฉันตกหลุมรักสิ่งนี้ได้อย่างไร? ซึ่งมันเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทุกสาขาอาชีพ ซึ่งฉันไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก”

จากเรื่องราวที่ยกตัวอย่างมานั้น พอจะเดากันออกแล้วใช่มั้ยว่า Romance Scam คืออะไร? และหวังผลประโยชน์อะไรจากเหยื่อ?

สำหรับจุดเริ่มต้นของ Romance Scam เกิดขึ้นในวันที่โลกพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้คนจำนวนมากหันเข้าสู่โลกออนไลน์แทนที่จะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เลือกที่จะสื่อสารเรื่องส่วนตัวกันผ่านสื่อออนไลน์มากกว่า เพราะสามารถระบายหรือได้พูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักตัวตนของพวกเขา โดยอาจไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจกว่า


เว็บไซต์และแอปพลิเคชันกระตุ้นให้ผู้ใช้สร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อพบเจอผู้คนที่อาจไม่รู้จักแต่มีความคิดความชอบที่คล้ายกันให้พบเจอกัน อาชญากรมักมองหาเหยื่อจากชุมชนออนไลน์ที่มีลักษณะการใส่ข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่นมาสนใจ ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ใช้มากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ได้เผยข้อมูลอ่อนไหวของตนให้กับคนแปลกหน้า

Romance Scam หลุมพรางที่มีเหยื่อล่อเป็น “ความรัก” และ “ความเชื่อใจ”
ในเว็บไซต์หาคู่หรือในโซเชียลมีเดียคุณมั่นใจได้มากน้อยแค่ไหน ว่าคนที่คุณคุยด้วยเพื่อสานความสัมพันธ์นั้น เป็นอย่างที่คุณคิดจริงๆ ข้อความที่บอกรักแสนหวานพร้อมโปรไฟล์ที่ดูดี ทำให้คุณมองข้ามนัยยะแฝงที่ซ้อนเล้นอันเต็มไปด้วย
คำลวง “คนรัก” ที่คุณไม่เคยพบหน้า ไม่เคยเจอตัวจริง แต่กลับทุกเทใจให้โดยง่ายดาย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

Romance Scam เกิดขึ้นเมื่ออาชญากรใช้ตัวตนออนไลน์ปลอม เพื่อให้เหยื่อได้รับความรักและความไว้วางใจ จากนั้นคนกลุ่มนี้จะใช้ภาพลวงตาของความสัมพันธ์ที่โรแมนติกหรือใกล้ชิด จัดการขโมยสิ่งที่ต้องการจากเหยื่อ โดยอาชญากรที่ทำ Romance Scam เป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่พวกเขาทำและจะดูจริงใจ เอาใจใส่ และน่าเชื่อถือ นักต้มตุ๋นมีอยู่มากมายในเว็บไซต์หาคู่และโซเชียลมีเดีย

ความตั้งใจของ “สแกมเมอร์” หรือนักต้มตุ๋นออนไลน์ คือการสร้างความสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด สร้างความรักในใจให้กับเหยื่อ เพื่อให้ได้มาซึ่งความไว้วางใจ สแกมเมอร์อาจขอแต่งงานและวางแผนที่จะพบปะกันด้วยตนเอง แต่นั่นจะไม่มีวันเกิดขึ้น ในที่สุดพวกเขาจะ “ขอเงิน” จากคุณ และเมื่อได้เงินมากพอแล้ว “นักรักออนไลน์ก็จะกลายเป็นโจรผู้หลอกลวง” และหายตัวไปจากชีวิตของคุณทันที

กลวิธีที่ใช้ในการสร้างความสัมพันธ์แบบ “รัก ลวง หลอก”
“ความเชื่อใจ” เป็นจุดเริ่มต้นสู้การมอบความรักให้กับสแกมเมอร์ คนที่เข้ามาหลอกลวงเหยื่อนั้นมักจะใช้รูปภาพของบุคคลอื่นที่ดูน่าเชื่อถือ มักใช้ภาพที่มีการแต่งกายดูดี ภูมิฐาน หรือภาพคนในเครื่องแบบ เช่น ทหาร แพทย์ นักธุรกิจ วิศวกร
มีสถานะในโลกออนไลน์เป็นคนโสด หรืออาจเคยแต่งงานมาแล้วแต่ภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้างกับภรรยาแล้ว

สแกมเมอร์อาจจะแอบอ้างเป็นบุคคลในรูป ใช้ข้อมูลของบุคคลจริงในรูป หรืออาจจะสร้างตัวตนใหม่โดยใช้รูปคนอื่นแต่งเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อเชื่อใจจากภาพลักษณ์ที่เห็น สแกมเมอร์จะแฝงตัวอยู่ในสังคมออนไลน์ทั่วไปในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหาคู่ต่างๆ และอาจติดต่อพูดคุยกับเหยื่อได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทาง Email, Facebook, Line, Instagram

ขณะเดียวกันสแกมเมอร์ยังใช้ Social Engineering ในการโจมตีทางจิตวิทยา รวมถึงการใช้วาทะศิลป์ในการล่อลวงเหยื่อให้หลงกลยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญ และเมื่อวางเป้าหมายไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการลงมือต้มตุ๋นเหยื่อ โดยขอยกตัวอย่างรูปแบบและวิธีที่สแกมเมอร์มักใช้ดำเนินการอยู่บ่อยครั้ง ดังนี้

โจมตีด้วยคำว่ารัก
หลากคำหวานหว่านโปรยลงบนใจของคุณ ยิ่งเป็นคนขี้เหงาที่กำลังแสวงหารักแท้แล้วล่ะก็ ยิ่งเข้าทางสแกมเมอร์

  • “รักคุณตั้งแต่แรกเห็นรูปโปรไฟล์ เมื่อนั้นก็รู้ได้เลยว่านี่คือคู่ชีวิตที่จะจูงมือและอยู่ด้วยกันไปตลอดกาล”

  • “ชีวิตนี้ล้มเหลวกับความรักมากมาย ไม่เคยเจอรักแท้เช่นคุณ เราแต่งงานกันนะ”

  • “มีเงินทองมากมายแต่ซื้อความรักไม่ได้ หากได้คุณเป็นคู่ครองก็จะทำให้พบกับความสุขที่สมบูณณ์แบบ”

บางเคสก็จะใช้กลลวงประมาณว่า กำลังมองหารักแท้หรือเพื่อนใจที่จะมาลงหลักปักฐานใช้ชีวิตร่วมกันในบั้นปลาย จะหอบเงินเกษียณหรือจากการทำธุรกิจมาทั้งชีวิต แล้วเดินทางมาหามาแต่งงานด้วย แต่ยังติดขัดที่ขั้นตอนการเดินทาง การโอนถ่ายทรัพย์สมบัติ ฯลฯ โดยเฉพาะคนร้ายที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งยังออกนอกประเทศไม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางประการ ต้องให้เหยื่อโอนเงินไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นเงินค้ำประกัน เงินค่าดำเนินการบางอย่าง ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อได้ฟังเช่นนี้ทำให้เหยื่อหลงเชื่อเพราะรัก หรือต้องการทรัพย์สินจากเรื่องหลอกลวงที่สแกมเมอร์สร้างขึ้น

หลอกให้ร่วมลงทุน
หลอกว่าเป็นนักธุรกิจหรือมหาเศรษฐีที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ต้องการหาคนมาร่วมลงทุนด้วย หลอกให้เหยื่อโอนเงินไปช่วยหมุนในธุรกิจก่อน เหยื่อหลงเชื่อเพราะคนร้ายหลอกว่าจะได้เงินก้อนใหญ่ ผลตอบแทนสูงหลายสิบเท่า หากรีบลงทุนเสียแต่ตอนนี้

ส่งของมีค่ามาให้
หลอกว่าส่งสิ่งของมีราคาสูงมากมาให้ แต่ของติดอยู่ที่ด่านตรวจ จึงขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินไปจ่ายก่อนเพื่อจะได้นำของออกมาให้เหยื่อได้ เหยื่อหลงเชื่อเพราะหวังสิ่งของราคาสูงนั่นเอง

ต้องการความช่วยเหลือ
หลอกว่ามีพ่อแม่พี่น้องหรือแม้แต่ตัวเองกำลังป่วย ขอให้เหยื่อส่งเงินไปช่วยรักษา เมื่อหายแล้วจะได้เดินทางมาหา หลอกว่ากำลังเดือดร้อนต้องใช้เงินจำนวนมากๆ เช่น ชำระหนี้ หรือไถ่ถอนที่ดินหรือบ้าน เหยื่อหลงเชื่อเพราะรัก สงสาร และหวังที่จะได้ใช้ชีวิตร่วมกันจึงยอมช่วยเหลือ

ทุกรูปแบบที่กล่าวมานั้น มาพร้อมคำสัญญาว่าจะคืนเงินให้ตามจำนวนหรือมากกว่าหลายเท่า รวมทั้งสัญญาว่าจะแต่งงานมีอนาคตร่วมกัน เมื่อเหยื่อเริ่มรู้ตัวหรือสงสัยว่าอาจจะถูกหลอกหรือเหยื่อหมดตัวแล้ว สแกมเมอร์จะหนีไปตลอดกาลไม่ติดต่อกับเหยื่อและไม่ให้เหยื่อติดต่อได้ พร้อมกับปิดบัญชีออนไลน์ต่างๆ ซึ่งก็สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้อยู่แล้ว

สแกมเมอร์มักใช้ประวัติและรูปภาพปลอม ทำให้ติดตามตัวได้ยากหรือถ้าติดต่อได้ก็อาจเป็นคนที่ถูกนำรูปภาพมาใช้ ไม่ใช่คนร้ายตัวจริง


ทำอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Romance Scam

  • ระมัดระวังสิ่งที่คุณโพสต์ในโลกออนไลน์ เพราะสแกมเมอร์สามารถใช้รายละเอียดที่แชร์บนโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์หาคู่เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

  • ค้นหารูปภาพและโปรไฟล์ของบุคคลดังกล่าว ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า โดยใช้การค้นหาออนไลน์เพื่อดูว่ามีการใช้รูปภาพ ชื่อ หรือรายละเอียดในที่อื่นหรือไม่

  • พัฒนาความสัมพันธ์อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป และพยายามถามคำถามให้มากๆ เข้าไว้ เพื่อให้รู้จักตัวตนกันมากขึ้น

  • โปรดจงระวังให้ดี หากบุคคลนั้นดูสมบูรณ์แบบเกินไปหรือขอให้คุณออกจากบริการหาคู่หรือเว็บไซต์โซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วเพื่อสื่อสารโดยตรง

  • ระวังหากบุคคลนั้นพยายามแยกคุณออกจากเพื่อนและครอบครัว หรือขอรูปภาพหรือข้อมูลทางการเงินที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจใช้เพื่อขู่กรรโชกคุณในภายหลัง

  • ระวังหากบุคคลนั้นสัญญาว่าจะนัดพบด้วยตัวเองแต่ก็มักจะมีข้ออ้างว่าทำไม่ได้ หากคุณไม่ได้พบเขาหลังจากผ่านไปสองสามเดือน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณก็มีเหตุผลที่ดีที่จะสงสัยว่าคนที่คุยด้วยนั้นเป็นพวกสแกมเมอร์

  • จงจำไว้เลยว่าอย่าโอนเงินให้ใครง่ายๆ โดยเฉพาะคนที่รู้จักในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตามหากคุณตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam แล้ว ให้เก็บหลักฐานการโอนเงิน และเก็บภาพข้อความการพูดคุยกับคนร้ายผ่านช่องทางต่างๆ เก็บชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ และข้อมูลของคนร้ายไว้ให้มากที่สุด นำไปแจ้งความกับสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี โดยมีคำแนะนำจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ดังนี้

ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารส่วนตัว และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปด้วย

  • กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียงให้เตรียมหลักฐานที่พบว่ามีการกระทำความผิด เช่น หน้าจอ หน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรม Line และ Facebook หรือหน้าเพจที่พบการกระทำความผิด พริ้นต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วนำไปด้วย
  • กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ให้เตรียมหลักฐานที่พบการกระทำความผิด การหลอกลวง พรินต์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ หลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ นำไปด้วย
  • ให้ไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ สถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธร หรือท่านสามารถเดินทางไปร้องทุกข์ที่่ บก.ปอท. ได้เช่นกัน

ท้ายที่สุดนี้หากคุณสงสัยว่าความสัมพันธ์ออนไลน์ที่พึ่งเริ่มต้นขึ้น และกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เป็นการ “หลอกลวง” วิธีง่ายๆ อันดับแรกเลยก็คือ “ให้หยุดการติดต่อทั้งหมดทันที” ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้

ข้อมูลจาก
https://www.fbi.gov/video-repository/fbi-salt-lake-city-romance-scam-victim-tells-her-story-02112022.mp4/view
https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101502
https://www.etda.or.th/th/Knowledge-Sharing/Romance-Scam-in-IFBL-aspx.aspx

Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare