share

“ธุรกิจ SMEs” เหตุใดจึงตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์?

Last updated: 5 Jan 2024
598 Views
“ธุรกิจ SMEs” เหตุใดจึงตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์?

“ธุรกิจ SMEs” เหตุใดจึงตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์?

การทำธุรกิจในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ภัยคุกคามทางไซเบอร์” ทุกองค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ย่อมมีโอกาสที่จะถูกโจมตี หากไม่มีการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งเพียงพอหรือเหมาะสมกับรูปแบบของธุรกิจที่ทำอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็ก หรือ SMEs ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรอยู่เสมอ

ในจังหวะที่ธุรกิจอย่าง SMEs เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงมีการใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เพื่อสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น ทุกสิ่งดำเนินไปเพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน และเมื่อธุรกิจ SMEs เริ่มมีวิวัฒนาการที่ทันสมัย
ภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็พุ่งเป้าโจมตีมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะอาชญากรไซเบอร์ไม่ได้กำหนดเป้าหมายเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ในความเป็นจริงธุรกิจรายเล็กสามารถเป็นเป้าหมายที่ดีกว่าด้วยซ้ำ

สาเหตุของการตกเป็นเหยื่อในการโจมตีทางไซเบอร์
สาเหตุหลักที่ธุรกิจ SMEs ตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ เนื่องจากตัวบริษัทมักมีงบประมาณที่จำกัด รวมถึงไม่มีเวลาที่จะทุ่มเทให้กับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เหมือนบริษัทขนาดใหญ่ หรือถ้ามีก็เป็นระบบที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ ง่ายต่อการเจาะระบบและขโมยข้อมูล ซ้ำร้ายในบางกรณีเรื่องของ Cybersecurity ถูกลำดับความสำคัญไว้หลังๆเพราะมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ บางองค์กรก็ทิ้งเรื่องดังกล่าวไว้กลางทาง และเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องมีระบบ Cybersecurity ก็ได้ ทั้งๆ ที่ธุรกิจของตนเองมีข้อมูลของลูกค้า พนักงาน ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูลทางการเงินที่โจรไซเบอร์ต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ต้องทำอย่างไรถึงจะปกป้องธุรกิจของตนให้มีความปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ คำตอบง่ายๆ ก็คือ “ความตระหนักรู้” นั่นเอง

Cybersecurity การสร้างความตระหนักรู้กับผู้ประกอบการ
เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs อีกจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า Cybersecurity คืออะไร? วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน…

Cybersecurity หรือ “ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” คือการนำเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีและกระบวนการ รวมถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกออกแบบไว้เพื่อป้องกันและรับมือความเสี่ยงที่อาจจะถูกโจมตีเข้ามายังอุปกรณ์เครือข่าย, โครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ, ระบบหรือโปรแกรมที่อาจจะเกิดความเสียหายจากการที่ถูกเข้าถึงโดยบุคคลที่สามที่ไม่ได้รับอนุญาต

ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนได้เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป้าหมายในการโจมตีมีความหลากหลาย รวมถึงรูปแบบของการโจมตีที่ซับซ้อน และสร้างความเสียหายให้กับองค์กรอย่างมหาศาล


ดังนั้นปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ไม่ใช่การสร้างความเสียหายเฉพาะบุคคล อย่างเช่นการแฮกค์บัญชีธนาคาร หรือการเจาะข้อมูลเข้าไปในอีเมลส่วนบุคคล แต่วันนี้มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าอาชญากรทางไซเบอร์อันตรายและสามารถสร้างความเสียหายได้รุนแรงกว่าที่คิด เพราะอาชญากรสามารถเจาะระบบความปลอดภัยและขโมยข้อมูลทางการค้าของบริษัทใหญ่ๆ เพื่อนำไปขายให้คู่แข่ง ไปจนถึงการเจาะระบบเข้าไปในหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างข่าวปลอมทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ

ผลกระทบเมื่อถูกโจมตีทางไซเบอร์
การโจมตีทางไซเบอร์นั้นสามารถสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้แก่ธุรกิจ SMEs ทั้งการสูญเสียทางการเงิน เช่น การโจรกรรมข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ Ransomware หรือการถูกโจมตีไปที่เว็บไซต์หรือระบบการทำงานให้หยุดชะงักลงด้วย DDoS Attack ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจต้องสะดุด ทำให้สูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ รวมถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้สูญเสียฐานลูกค้า และอาจได้รับบทลงโทษทางกฎหมายในกรณีเลวร้ายที่สุด ความสูญเสียอาจมีมูลค่ามากจนทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวลงได้อีกด้วย จากการศึกษาภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อธุรกิจขนาดเล็กของ U.S. Securities and Exchange Commission ในสหรัฐฯ พบว่า กว่า 60% ของธุรกิจรายเล็กที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ต้องปิดตัวลงใน 6 เดือนหลังการโจมตี

First Steps ก้าวแรกที่ต้องเดินให้ถูกทาง
เมื่อผู้ประกอบการรู้ความหมายของ Cybersecurity และเข้าใจถึงผลกระทบแล้ว ก้าวต่อไปก็จะเป็นเรื่องของการประเมินความเสี่ยง โดยภาพรวมนั้นการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ช่วยให้ธุรกิจและองค์กรเข้าใจ ควบคุม และลดความเสี่ยงทางไซเบอร์ทุกรูปแบบได้ หากไม่มีการประเมินความเสี่ยงอาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลและทรัพยากรสำคัญในการดำเนินธุรกิจขององค์กร

ขณะเดียวกันประโยชน์ของการประเมินความเสี่ยงคือการช่วยให้เจ้าของธุรกิจ SMEs เข้าใจองค์กรของตนเองมากขึ้น รู้ว่าข้อมูลและทรัพย์สินที่สำคัญนั้นจัดเก็บอยู่ที่ไหนในโลกดิจิทัล ในคอมพิวเตอร์จัดเก็บอะไรไว้บ้าง อะไรควรได้รับการปกป้อง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดลำดับความสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทราบถึงความน่าจะเป็น และความรุนแรงของความเสี่ยง

อีกทั้งยังสามารถเลือกใช้โซลูชันรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำธุรกิจของตนเอง เจ้าของธุรกิจ SMEs ยังสามารถจัดตั้งผู้รับผิดชอบในการจัดการความเสี่ยงที่ถูกประเมิน และการวิเคราะห์ความปลอดภัยอื่นๆ เพิ่มเติมภายในระบบสารสนเทศของธุรกิจหรือองค์กร

เรียนรู้การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นทั่วไป
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปยังธุรกิจ SMEs สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อของการโจมตีเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น

มัลแวร์ - คือซอฟต์แวร์หรือรหัสที่เป็นอันตรายซึ่งใช้เพื่อขโมยข้อมูลและสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างมัลแวร์ที่พบได้บ่อยคือ “ไวรัส” และ “แรนซัมแวร์”

ไวรัส - คือโปรแกรมรหัสหรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถจำลองตัวเองเพื่อแพร่กระจายระหว่างคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ โดยปกติแล้วจะถูกส่งผ่านไฟล์แนบอีเมลและอาจทำให้คอมพิวเตอร์และฮาร์ดไดรฟ์เสียหายได้ ไวรัสช่วยให้อาชญากรไซเบอร์เข้าถึงระบบของธุรกิจได้

แรนซัมแวร์ - เป็นมัลแวร์รูปแบบหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบุคคลหรือองค์กร มันจำกัดการเข้าถึงและเข้ารหัสข้อมูลแล้วจับไว้เป็นตัวประกันจนกว่าจะจ่ายค่าไถ่ แรนซัมแวร์มักจะแพร่กระจายผ่านทางอีเมลและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่ไม่ได้แพตช์ในซอฟต์แวร์

ฟิชชิง - คือการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทหนึ่งที่แอบอ้างเป็นบุคคล เว็บไซต์ หรือองค์กรที่น่าเชื่อถือเพื่อหลอกลวงให้เหยื่อเปิดเผยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ผ่านช่องทาง E-Mail, SMS, เว็บไซต์ หรือ Social Media
ฟิชชิงมักมาพร้อมกับลิงก์หรือไฟล์แนบอันตราย เมื่อคลิกลิงค์แล้วจะปล่อยมัลแวร์ที่รวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวของเหยื่อไปใช้ในการทำธุรกรรม

มาถึงตรงนี้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงของธุรกิจ SMEs ก็คือเรื่องของการลงทุนในระบบ Cybersecurity ซึ่งต้องพัฒนาระบบการดูแลความปลอดภัยที่ครอบคลุมทั้งเครือข่าย IT ที่ใช้ในองค์กร เนื่องด้วยรูปแบบของการโจมตีทางไซเบอร์ที่ปรับเปลี่ยนกลวิธีอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการอัพเดทระบบและมอนิเตอร์ความเสี่ยงในทุกๆ ด้านอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและบุคลากรที่จะดูแลงานด้าน IT

ดังนั้นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาระบบ Cybersecurity ของธุรกิจ SMEs คือการใช้บริการด้าน Cybersecurity จากผู้ให้บริการภายนอก ซึ่งมีความสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ SMEs อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายต่ำ ลดต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านความปลอดภัยประจำอยู่ภายในองค์กร และสามารถรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท้ายที่สุดแล้วการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของ SMEs แต่ผู้ประกอบการก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร นั่นเพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทุกวันนี้นั้นรุนแรงมากกว่าเดิมหลายเท่า ถึงขั้นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถกู้คืนข้อมูลที่สำคัญกลับมาได้ อีกทั้งผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในการวางระบบ Cybersecurity ไม่เพียงแต่ทำให้องค์กรและธุรกิจ SMEs มีความปลอดภัยแล้ว หากแต่ยังเป็นการปกป้องลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฯลฯ ให้ปลอดภัยไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่าระบบ Cybersecurity นั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น อย่ารอให้ภัยคุกคามโจมตีธุรกิจของคุณแล้วค่อยหาทางแก้ไข เพราะความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาธุรกิจ SMEs ให้เติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน

แหล่งข้อมูล
https://it.nc.gov/resources/cybersecurity-risk-management/cybersecurenc/businesses/threats
https://www.scbeic.com/th/detail/product/8400
https://ict.dmh.go.th/events/events/files/CyberSecurity-Awareness.pdf
https://www.depa.or.th/th/article-view/cyber-risk-assessment-and-cyber-risk-management
https://www.bangkokbanksme.com/en/sme1-cyber-security-smes-must-be-aware

Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare