แชร์

ฟิชชิงมุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้งาน ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์

อัพเดทล่าสุด: 27 ส.ค. 2024
335 ผู้เข้าชม
ฟิชชิงมุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้งาน ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์

ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์ (Microsoft OneDrive) ตกเป็นเป้าโจมตีฟิชชิง (Phishing) ที่มีความซับซ้อนโดยมีการเลือกใช้กลยุทธ์ทางวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) ขั้นสูงเพื่อหลอกเหยื่อให้เรียกใช้สคริปต์ PowerShell ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับระบบได้อย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง

การโจมตีจะเริ่มต้นจากอีเมลที่มีไฟล์ HTML ทำให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา DNS troubleshooting เพื่อเข้าถึงไฟล์ OneDrive เมื่อเปิดไฟล์ HTML ผู้ใช้งานจะเห็นรูปภาพจำลองหน้า OneDrive ที่แสดงข้อผิดพลาดเกี่ยวกับปัญหา DNS และมี 2 ปุ่มแสดงขึ้นที่หน้าจอคือรายละเอียด และ วิธีการแก้ไข

หากผู้ใช้งานเลือกคลิกปุ่ม รายละเอียด ก็จะนำไปยังหน้า Microsoft Learn ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา DNS แต่ถ้ากดปุ่ม วิธีการแก้ไข จะมีการเรียกใช้ฟังก์ชัน JavaScript ภายในไฟล์ HTML เพื่อแนะนำให้ผู้ใช้งานเปิด Windows PowerShell Terminal และเรียกใช้คำสั่งเฉพาะเพื่อล้างแคช DNS และสร้างโฟลเดอร์ชื่อ ดาวน์โหลด บนไดรฟ์ C

จากนั้นจะให้ดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้ถาวรที่แยกเนื้อหาและการรันสคริปต์ แฮกเกอร์ทำเช่นนี้เพื่อต้องการหลอกผู้ใช้งานว่านี่คือขั้นตอนปกติ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำศัพท์ทางเทคนิคและข้อความแสดงข้อผิดพลาดฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นอารมณ์ของผู้ใช้งานให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

จากการสำรวจพบว่า มากกว่า 9 ใน 10 หรือ 92% ขององค์กรได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางวิศวกรรมสังคมและ Gmail เป็นโดเมนอีเมลที่ใช้มากที่สุดในการโจมตีซึ่งสามารถแยกรูปแบบการโจมตีหลักๆ ได้ดังนี้

Conversation hijacking แฮกเกอร์ใช้ฟิชชิงเจาะบัญชีขององค์กรเพื่อทำความเข้าใจการดำเนินธุรกิจ ขั้นตอนการชำระเงิน และรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ โดยข้อมูลนี้จะถูกส่งออกจากโดเมนที่น่าเชื่อถือเพื่อใช้แอบอ้างหลอกให้เหยื่อโอนเงินหรืออัพเดทข้อมูลการชำระเงิน

การไฮแจ็กแบบนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของการโจมตีทางวิศวกรรมสังคมในปี 2566 แต่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% เมื่อเทียบกับปี 2565 Business Email Compromise (BEC) การโจมตีอีเมลโดยปลอมแปลงเพื่อหลอกพนักงานให้โอนเงินคิดเป็น 10.6% Extortion แฮกเกอร์ขู่กรรโชกเหยื่อว่าจะเปิดเผยข้อมูลหากไม่จ่ายเงินค่าไถ่ การโจมตีแบบกรรโชกคิดเป็น 2.7%

แฮกเกอร์ยังใช้ประโยชน์จาก URL shortening service หรือการย่อชื่อยาวๆของ URL ให้สั้นลงเพื่อฝังลิงก์ปลอมในอีเมลฟิชชิง โดยกลยุทธ์นี้สามารถช่วยปกปิดปลายทางที่แท้จริงของลิงก์ได้ และยังมีการโจมตีฟิชชิงด้วยรหัส QR เพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะไม่มีลิงก์ฝังหรือไฟล์แนบที่เป็นอันตรายให้สแกนจึงตรวจพบได้ยากมากหากใช้วิธีการกรองอีเมลแบบเดิม

โดยแฮกเกอร์ฝังรหัส QR ในอีเมลฟิชชิง จากนั้นแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานสแกนรหัสและเยี่ยมชมเพจปลอมที่ดูเหมือนจะเป็นบริการหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อถือและหลอกให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดมัลแวร์หรือป้อนข้อมูลรับรองการเข้าสู่ระบบ

รหัส QR ที่ส่งทางอีเมลยังนำผู้ใช้งานให้ออกจากเครื่องขององค์กรและบังคับให้ใช้อุปกรณ์ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์หรือ iPad ซึ่งไม่ได้รับการปกป้องโดยซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยขององค์กรนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ผลกระทบของการโจมตีด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นอาจขยายไปไกลกว่าการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแต่ลามไปยังเครือข่ายในวงกว้างทำให้เกิดการสูญเสียทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญและสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรอย่างรุนแรง

ฉะนั้นองค์กรต่างๆ จะต้องระมัดระวัง ให้ความรู้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง และเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีที่ซับซ้อนดังกล่าว

สิ่งที่สำคัญคือการแพร่กระจายของการโจมตีทั่วโลกนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างประเทศและการแบ่งปันข่าวกรองเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget  

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2567)
https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1139858 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ