share

ฟิชชิงมุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้งาน ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์

Last updated: 27 Aug 2024
144 Views
ฟิชชิงมุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้งาน ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์

ฟิชชิงมุ่งเป้าโจมตีผู้ใช้งาน ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์

ไมโครซอฟท์ วันไดรฟ์ (Microsoft OneDrive) ตกเป็นเป้าโจมตีฟิชชิง (Phishing) ที่มีความซับซ้อนโดยมีการเลือกใช้กลยุทธ์ทางวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) ขั้นสูงเพื่อหลอกเหยื่อให้เรียกใช้สคริปต์ PowerShell ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับระบบได้อย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง

การโจมตีจะเริ่มต้นจากอีเมลที่มีไฟล์ HTML ทำให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา DNS troubleshooting เพื่อเข้าถึงไฟล์ OneDrive เมื่อเปิดไฟล์ HTML ผู้ใช้งานจะเห็นรูปภาพจำลองหน้า OneDrive ที่แสดงข้อผิดพลาดเกี่ยวกับปัญหา DNS และมี 2 ปุ่มแสดงขึ้นที่หน้าจอคือรายละเอียด และ วิธีการแก้ไข

หากผู้ใช้งานเลือกคลิกปุ่ม รายละเอียด ก็จะนำไปยังหน้า Microsoft Learn ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา DNS แต่ถ้ากดปุ่ม วิธีการแก้ไข จะมีการเรียกใช้ฟังก์ชัน JavaScript ภายในไฟล์ HTML เพื่อแนะนำให้ผู้ใช้งานเปิด Windows PowerShell Terminal และเรียกใช้คำสั่งเฉพาะเพื่อล้างแคช DNS และสร้างโฟลเดอร์ชื่อ ดาวน์โหลด บนไดรฟ์ C

จากนั้นจะให้ดาวน์โหลดไฟล์เก็บไว้ถาวรที่แยกเนื้อหาและการรันสคริปต์ แฮกเกอร์ทำเช่นนี้เพื่อต้องการหลอกผู้ใช้งานว่านี่คือขั้นตอนปกติ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำศัพท์ทางเทคนิคและข้อความแสดงข้อผิดพลาดฉุกเฉินเพื่อกระตุ้นอารมณ์ของผู้ใช้งานให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

จากการสำรวจพบว่า มากกว่า 9 ใน 10 หรือ 92% ขององค์กรได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางวิศวกรรมสังคมและ Gmail เป็นโดเมนอีเมลที่ใช้มากที่สุดในการโจมตีซึ่งสามารถแยกรูปแบบการโจมตีหลักๆ ได้ดังนี้

Conversation hijacking แฮกเกอร์ใช้ฟิชชิงเจาะบัญชีขององค์กรเพื่อทำความเข้าใจการดำเนินธุรกิจ ขั้นตอนการชำระเงิน และรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ โดยข้อมูลนี้จะถูกส่งออกจากโดเมนที่น่าเชื่อถือเพื่อใช้แอบอ้างหลอกให้เหยื่อโอนเงินหรืออัพเดทข้อมูลการชำระเงิน

การไฮแจ็กแบบนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของการโจมตีทางวิศวกรรมสังคมในปี 2566 แต่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% เมื่อเทียบกับปี 2565 Business Email Compromise (BEC) การโจมตีอีเมลโดยปลอมแปลงเพื่อหลอกพนักงานให้โอนเงินคิดเป็น 10.6% Extortion แฮกเกอร์ขู่กรรโชกเหยื่อว่าจะเปิดเผยข้อมูลหากไม่จ่ายเงินค่าไถ่ การโจมตีแบบกรรโชกคิดเป็น 2.7%

แฮกเกอร์ยังใช้ประโยชน์จาก URL shortening service หรือการย่อชื่อยาวๆของ URL ให้สั้นลงเพื่อฝังลิงก์ปลอมในอีเมลฟิชชิง โดยกลยุทธ์นี้สามารถช่วยปกปิดปลายทางที่แท้จริงของลิงก์ได้ และยังมีการโจมตีฟิชชิงด้วยรหัส QR เพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะไม่มีลิงก์ฝังหรือไฟล์แนบที่เป็นอันตรายให้สแกนจึงตรวจพบได้ยากมากหากใช้วิธีการกรองอีเมลแบบเดิม

โดยแฮกเกอร์ฝังรหัส QR ในอีเมลฟิชชิง จากนั้นแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานสแกนรหัสและเยี่ยมชมเพจปลอมที่ดูเหมือนจะเป็นบริการหรือแอปพลิเคชันที่เชื่อถือและหลอกให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดมัลแวร์หรือป้อนข้อมูลรับรองการเข้าสู่ระบบ

รหัส QR ที่ส่งทางอีเมลยังนำผู้ใช้งานให้ออกจากเครื่องขององค์กรและบังคับให้ใช้อุปกรณ์ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์หรือ iPad ซึ่งไม่ได้รับการปกป้องโดยซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยขององค์กรนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ผลกระทบของการโจมตีด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นอาจขยายไปไกลกว่าการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแต่ลามไปยังเครือข่ายในวงกว้างทำให้เกิดการสูญเสียทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญและสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงขององค์กรอย่างรุนแรง

ฉะนั้นองค์กรต่างๆ จะต้องระมัดระวัง ให้ความรู้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง และเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีที่ซับซ้อนดังกล่าว

สิ่งที่สำคัญคือการแพร่กระจายของการโจมตีทั่วโลกนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างประเทศและการแบ่งปันข่าวกรองเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2567)
https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1139858 

Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare