Share

เมื่อ 'ธุรกิจขนาดเล็ก' ตกเป็นเป้าโจมตีของ ‘แรนซัมแวร์’

Last updated: 22 May 2025
17 Views

"แรนซัมแวร์" ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกไปแล้ว ขณะนี้ธุรกิจขนาดเล็กตกเป็นเป้าหมายและต้องประสบกับเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันแรนซัมแวร์ส่วนใหญ่มุ่งเป้าโจมตีไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก โดยกว่า 88% ของธุรกิจขนาดเล็กต้องประสบกับเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีเพียง 39% เท่านั้น

ตามรายงาน Data Breach Investigations Report (DBIR) ฉบับล่าสุด เปิดเผยยอดการรั่วไหลของข้อมูลกว่า 12,195 เคสมีทั้งที่เป็นแรนซัมแวร์แบบเข้ารหัสข้อมูลและแบบที่เน้นข่มขู่กรรโชกแต่ไม่เข้ารหัสข้อมูล ซึ่งคิดเป็น 44% ของการโจมตีทั้งหมด

นี่แสดงให้เห็นว่า มีการเพิ่มขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับรายงานฉบับก่อนซึ่งแรนซัมแวร์มีเพียง 32% เท่านั้น และยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า แรนซัมแวร์ไม่เพียงแต่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและยุโรปแต่ได้กระจายไปในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกไปแล้ว

แม้ว่าแรนซัมแวร์จะเพิ่มขึ้น แต่ค่าไถ่กลับสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลงจาก 150,000 ดอลลาร์ในรายงานปีก่อนเหลือ 115,000 ดอลลาร์ เนื่องจากเกือบ 2 ใน 3 ของเหยื่อปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าไถ่ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงขึ้น 50% จาก 2 ปีก่อน นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาให้ความเห็นว่า จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเหยื่อ ทำให้กลุ่มแรนซัมแวร์เพิ่มความถี่ในการโจมตีมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการจ่ายค่าไถ่

เหล่าบรรดาแฮกเกอร์ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มทั่วๆ ไปแต่ยังมีกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (State-sponsored actors) ที่พร้อมจะก่อภัยคุกคามขั้นสูงและใช้กลยุทธ์แรนซัมแวร์มากขึ้น

โดยมีการสร้างแรงจูงใจด้านการจารกรรม (Espionage) ซึ่งคิดเป็น 17% ของการรั่วไหลที่ได้รับการยืนยันทั้งหมด ทำให้ภัยคุกคามนี้น่ากังวลเป็นพิเศษในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีสัดส่วนถึง 20% ของกรณีรั่วไหลทั้งหมด เทียบกับ 8% ในยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) และ 4% ในอเมริกาเหนือ

อย่างไรก็ตาม การจารกรรมไม่ใช่เป้าหมายเดียวของแฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพราะมีประมาณ 28% ของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนี้มีแรงจูงใจทางการเงินอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่า แฮกเกอร์กำลังเร่งพัฒนาเทคนิคการโจมตีให้มีความซับซ้อนขึ้นเพื่อเพิ่มระดับความรุนแรงในการก่อเหตุ ในบางครั้งอาจเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากก่อน แล้วจึงตัดสินใจว่าจะดำเนินการทางลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล (PII) หรือการกรรโชกข่มขู่

สำหรับรูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์ในแต่ละอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกัน เห็นได้จากในภาคส่วนการบริหาร (Administration) และ การค้าส่ง (Wholesale trade) เป็นอุตสาหกรรมที่ตกเป็นเป้าหมายหลักเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเงิน ส่วนอุตสาหกรรมขนส่ง เกษตรกรรม และบันเทิง ก็ได้รับผลกระทบหนักจากการโจมตีเช่นกัน

จากสถิติดังกล่าว ผมมองว่าประเทศไทยจะเป็นตกเป้าหมายอันดับต้นๆ ในย่านเอเชีย-แปซิฟิก เพราะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางด้านไอทีที่ดี ทำให้การโจมตีทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กก็ยังไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากนัก

ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่เหล่าบรรดามิจฉาชีพนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เป็นต้นเหตุของอาชญากรรมทางไซเบอร์ต่างๆ อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนต่างๆ อาจถูกขโมยและนำไปใช้กับซับพลายเชนที่องค์กรกำลังติดต่อประสานอยู่ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องหมั่นตรวจสอบระบบทางด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีความแข็งแกร่งอยู่เสมอครับ

สามารถติดตามบทความจาก CEO ผ่านทางบทความ Think Secure โดย คุณนักรบ เนียมนามธรรม (นักรบ มือปราบไวรัส) เป็นประจำทุกสัปดาห์ ได้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรือช่องทาง Online ที่ https://www.bangkokbiznews.com/category/tech/gadget

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2568)
https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1178960 


Related Content
This website uses cookies to enhance your experience and providing the best service from us. Please confirm the acceptance. You can learn more about our use of cookies from our Policy. Privacy Policy and Cookies Policy
Compare product
0/4
Remove all
Compare